อาการปวดขาตอนกลางคืนเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร

สำหรับครอบครัวที่มีลูกน้อยอยู่ในวัย 3-12 ปี คงเคยได้ยินเด็ก ๆ บ่นถึงอาการปวดขากันมาบ้าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน หรือในตอนกลางคืน ซึ่งสร้างความกังวลใจให้พ่อแม่อยู่ไม่น้อย แต่คงต้องบอกให้อุ่นใจกันก่อนว่า อาการปวดขาตอนกลางคืน เป็นภาวะปวดขาที่ไม่เป็นอันตรายในเด็ก (Benign Nocturnal Pains of Childhood) แต่เพื่อช่วยคลายความสงสัย เราจะขอพาไปรู้จักกับภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กปวดขาตอนกลางคืนให้มากขึ้น พร้อมแนวทางการวินิจฉัย การรักษา รวมถึงการป้องกันมาแนะนำกัน

อาการปวดขาตอนกลางคืนเกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดอาการ Growing Pain ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่อาจเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องมาจากการที่เด็ก ๆ ใช้ขาในการทำกิจกรรมระหว่างวันต่าง ๆ เช่น วิ่ง ปีน หรือกระโดด และสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กที่มีภาวะข้อหลวม หรือเอ็นข้อหย่อนมากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งเด็กที่มีท่าทางเดิน ยืน หรือนั่งผิดปกติ รวมถึงเด็กที่มีอาการเท้าแบนร่วมด้วย โดยมักแสดงอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปวดขาทั้ง 2 ข้าง ในบริเวณกล้ามเนื้อต้นขา หน้าแข้ง น่อง และหลังเข่า
  • ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ได้ปวดทุกวัน
  • ปวดตอนเย็นหรือกลางคืน บางครั้งหลับไปแล้ว ต้องสะดุ้งตื่นเพราะอาการปวด แต่อาการจะหายไปในตอนเช้า
  • บางรายอาจมีอาการปวดแขน ปวดท้อง หรือปวดหัวร่วมด้วย

อาการปวดขาตอนกลางคืนแบบไหนควรต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย

หากเด็กมีอาการปวดขาหรือปวดน่องขาตอนกลางคืน แต่เกิดขึ้นข้างเดียวเป็นประจำ รวมถึงมีไข้ เหงื่อออก น้ำหนักลด เลือดออกง่าย มีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง หรือมีอาการข้อบวม ข้อติดฝืดช่วงเช้า รวมถึงมีอาการเดินกะเผลกร่วมด้วย จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ โดยแพทย์จะทำการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ การทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของอาการที่แท้จริง เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่โรคอื่น ๆ จะแฝงตัวอยู่

แนวทางในการป้องกันและรักษาอาการปวดขาหรือปวดน่องขาตอนกลางคืน

อาการปวดขาตอนกลางคืน ยังเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถดูแลเพื่อบรรเทาอาการปวดให้แก่ลูกน้อยได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาหม่องขี้ผึ้งขนาดพกพานวดเบา ๆ ในบริเวณที่ปวด และกอดลูกเพื่อให้ความอบอุ่น ช่วยให้เด็กคลายความกังวลจากความเจ็บลงได้ 
  • อาบน้ำอุ่น หรือประคบร้อน เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อขาก่อนนอน
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แต่ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน
  • ยืดกล้ามเนื้อบริเวณขาระหว่างวัน เพื่อลดความปวดในตอนกลางคืน

หวังว่านี่คงทำให้พ่อแม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดขาตอนกลางคืนกันมากขึ้น ซึ่งต้องบอกกันให้มั่นใจอีกครั้งว่าภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองภายใน 1–2 ปี และไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกอีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง:

  1. GROWING PAIN (ภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จาก https://www.pobpad.com/growing-pain-ภาวะปวดขาจากการเจริญ
  2. รู้จัก “ภาวะปวดขาในเด็ก (Growing Pains)”. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2748406
  3. แม่จ๋า.....หนูปวดขาจัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=913