เมื่อถูกมดกัด รักษาและใช้ยาทาแก้ปวดบวมอย่างไร?

มด สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะทำอันตรายใด ๆ ต่อเราได้ แต่รู้ไหม! ว่ามดตัวนิดมีพิษร้ายกว่าที่คิดมากนัก เพราะการถูกมดกัด ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เรารู้สึกเจ็บ ๆ คัน ๆ ขึ้นมาเท่านั้น แต่อาจทิ้งตุ่มแดงและอาการบวมเอาไว้ด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และเป็นอันตรายอย่างมาก บทความนี้ เราจะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับตุ่มมดกัด และอาการแพ้มดอย่างรุนแรง รวมถึงมาแนะนำว่าวิธีรักษาและการใช้ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งบรรเทาอาการปวดบวมจากการถูกมดกัด

อาการตุ่มมดกัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่อถูกมดกัด ผิวหนังของเราจะได้รับสารเคมีจากมด เช่น น้ำลาย และกรดฟอร์มิก (Formic Acid) หรือสารโซเลนอพซิน (Solenopsin) ซึ่งพบในมดตะนอย มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง กลายเป็นตุ่มมดกัด และมีอาการอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น

  • อาการคันบริเวณตุ่มมดกัด 
  • อาจมีน้ำเหลืองหรือเกิดหนอง 
  • หากเกาอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกมดกัดมีอาการอักเสบ และเปลี่ยนเป็นรอยดำ


รักษาตุ่มมดกัดได้อย่างไร?

  • ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ถูกมดกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาด เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 
  • ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม บรรเทาอาการคัน โดยประคบเอาไว้ประมาณ 20 นาที 
  • รับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อจัดการกับอาการแพ้และอาการคันเล็กน้อยที่เกิดขึ้น
  • ทายาหม่องขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส บรรเทาอาการปวดบวมอักเสบจากมดกัด
  • ระมัดระวังพยายามอย่าเกา เพื่อป้องกันเกิดแผลที่ผิวหนัง และลดโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรีย และทำให้ผิวหนังเกิดเป็นรอยดำ
  • เลี่ยงไม่ให้ตุ่มมดกัดถูกแสงแดดจัด และทาครีมกันแดดป้องกัน เพื่อป้องกันการเกิดรอยดำจากผิวหนังอักเสบ รวมถึงทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้รอยดำจางลง

อาการตุ่มมดกัด โดยทั่วไปแล้วจะสามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนอาการคันก็สามารถบรรเทาได้ด้วยยาทาแก้คันตุ่มมดกัด แต่หากว่าเกินกว่า 2 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแพ้รุนแรงภายหลังโดนมดกัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยมดทุกชนิดไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้มดรุนแรง ส่วนมดชนิดใดบ้างที่จะทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ เราจะบอกให้คุณรู้กันเดี๋ยวนี้

มดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่อะไรบ้าง?

สำหรับมดที่กัดแล้วทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงในเมืองไทย มีอยู่ 2 ชนิด คือมดคันไฟไทย และมดตะนอยอกส้ม ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นสวน สนามหญ้า หรือว่ามีต้นไม้เยอะ

มดคันไฟไทย

มดคันไฟ เป็นมดตัวใหญ่สีเหลืองแดง เป็นมดที่มีสามารถทำอันตรายได้ทั้งการกัด และการใช้เหล็กในต่อย ซึ่งเมื่อถูกต่อยจะมีอาการแสบคันเหมือนถูกไฟลวก หลังจากนั้นจะเกิดอาการบวมแดงใส เมื่อเกาตุ่มคันจะขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น 

มดตะนอยอกส้ม

มดตะนอย เป็นมดตัวใหญ่บริเวณส่วนหัว ท้อง และส่วนบนของขาเป็นสีดำ และส่วนบริเวณอกเป็นสีส้มแดง เป็นมดที่สามารถกัดและต่อยได้เช่นเดียวกับมดคันไฟ เนื่องจากมีเหล็กในเหมือนกัน เมื่อถูกต่อยจะมีอาการปวด และบวม หลังจากนั้นจะมีอาการคันที่ค่อนข้างรุนแรง


อาการที่บ่งบอกว่าแพ้มดอย่างรุนแรง

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าคุณมีอาการแพ้มดอย่างรุนแรงหรือไม่ หลังจากถูกมดกัด ประมาณ 1-4 ชั่วโมง ให้สังเกตตนเองหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

อาการของระบบหัวใจและหลอดเลือด

สำหรับคนที่แพ้พิษมดอย่างรุนแรง จะมีอาการของระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ความดันโลหิตต่ำ จนอาจถึงขั้นหมดสติได้

อาการของระบบทางเดินอาหาร

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณแพ้มดอย่างรุนแรง คือ อาการของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง รวมถึงถ่ายเหลว

อาการของระบบทางเดินหายใจ

อาการของระบบทางเดินหายใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณแพ้มดอย่างรุนแรง ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก

อาการของระบบผิวหนัง

พิษของมด ยังส่งผลให้เกิดอาการทางระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่นลมพิษ หนังตาบวม ปากบวม ได้อีกด้วย


วิธีการป้องกันตนเองจากการถูกมดกัด

  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นรังมด ไม่ว่าจะเป็นตามต้นไม้ สนามหญ้า หรือว่ารังมดบนพื้นดิน
  • หากต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง หรือบริเวณที่คาดว่ามีรังมดชุกชุม ควรแต่งกายให้ปกปิดมิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือ ถุงเท้า และรองเท้า
  • รักษาความสะอาดในบ้าน รวมถึงบริเวณรอบบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมด 
  • ใช้ยาฆ่าแมลงฉีด เพื่อกำจัดมด โดยควรฉีดในบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้งและมีอากาศถ่ายเทสะดวก

เมื่อเรารู้แล้วว่ามดมีอันตรายมากกว่าที่คิด การพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองและคนที่เรารักถูกมดกัด นับว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด รวมไปถึงควรมียาหม่องขี้ผึ้งไว้ใช้ทาบรรเทาอาการปวดบวมเวลาถูกมดกัดติดบ้านไว้ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจ และหยิบมาใช้ทาบรรเทาอาการได้อย่างทันท่วงที

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. รศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี. แพ้มด อันตรายถึงชีวิต สังเกตอาการยังไงดี ถึงจะรู้ว่าลูกแพ้มด. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://th.theasianparent.com/ant-allergy-reactions-and-treatment
  2. มินยดา อนุกานนท์. ถอนพิษจาก 11 แมลง-สัตว์-พืช มีพิษ ด้วยสูตรยาตามตำราภูมิปัญญาไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/hilight-view.php?id=19#:~:text=7.%20ถอนพิษมดคันไฟ,ไม่ทำให้เป็นตุ่มดำ
  3. ซาราห์ เกเกอร์. วิธีการ ดูแลตัวเองเมื่อมดคันไฟกัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://th.wikihow.com/ดูแลตัวเองเมื่อมดคันไฟกัด
  4. พบแพทย์. ตุ่มมดกัด (ฺAnt Bites). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://www.pobpad.com/ตุ่มมดกัด-ฺant-bites
  5. คิงส์ เซอร์วิส. แพ้ มด คันไฟ อันตรายถึงชีวิต. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://kingservice.co.th/blog/แพ้-มด-คันไฟ-อันตรายถึงช/
  6. Hello คุณหมอ. มดคันไฟกัด อย่านิ่งนอนใจ เพราะคุณอาจ แพ้มดคันไฟ. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://hellokhunmor.com/โรคภูมิแพ้/ภูมิแพ้สัตว์และแมลง/มดคันไฟกัด-แพ้มดคันไฟ/
  7. พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล. หาหมอ. ตุ่มมดกัด (Ant bites). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://haamor.com/ตุ่มมดกัด